วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปี 1 เทอม 2 วิทยาการคอมพิวเตอร์ ลาดกระบัง

       ตอนนี้ผมก็เรียนจบปี 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ ก็เลยจะมาเล่า มาแนะนำวิชาที่เรียนไป ในเทอม 2 ที่ผ่านมาครับ ...มาดูกันเลยดีกว่า ^^

ปี 1 เทอม 2 เรียน 7 วิชา วิชาละ 3 หน่วยกิต รวมเป็น 21 หน่วยกิต
แบ่งเป็นวิชาหลัก 5 วิชา และวิชาเลือก 2 วิชา (เหมือนตอนเทอม 1)




1.LINEAR ALGEBRA AND APPLICATIONS 1
          หรือภาษาไทยว่า พีชคณิตเชิงเส้นและการประยุกต์ 1 [ เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ] วิชานี้ในหลักสูตรวิชาบอกว่า เรียนเกี่ยวกับ "การดำเนินของเมทริกซ์ ผกผันของเมทริกซ์ เมทริกซ์ย่อยและผลแบ่งส่วนเมทริกซ์ การดำเนินการมูลฐานและเมทริกซ์มูลฐาน ดีเทอร์มิแนนต์ ตัวประกอบร่วมเกี่ยว เมทริกซ์ ผูกพัน เมทริกซ์และรหัส ระบบของสมการเชิงเส้น กฎคราเมอร์ การกำจัดเกาส์เซียน การ กำจัดเกาส์-จอร์แดน การแยกแบบแอลยู ค่าลำดับชั้น ปริภูมิเวกเตอร์ ปริภูมิย่อย การ แปลงเชิงเส้น เคอร์เนล เรนจ์ ค่าลักษณะเฉพาะ เวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ กระบวนการ ทแยงมุม การประยุกต์ของพีชคณิตเชิงเส้นสู่ปัญหาจริง"  ซึ่งส่วนมากที่ได้เรียนก็เกี่ยวกับเมทริกซ์ การประยุกต์เมทริกซ์ อะไรทำนองนี้
        การสอบแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ มิดเทอม หลังมิดเทอม และไฟนอล เพราะเนื้อหาค่อนข้างเยอะ เทคนิคนู้นนี่ วิธีโน้นนั่น เยอะแยะไปหมด


2.PROBABILITY
วิชาความน่าจะเป็นนั่นเอง [ เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ] ความจริงแล้วเราได้เรียนความน่าจะเป็นคร่าวๆ มาจากวิชาสถิติพื้นฐานแล้ว แต่นั่นเป็นการสอนพื้นๆ พอมาถึงวิชานี้ก็จะเป็นการลงลึกเข้าไปอีก(งงเข้าไปอีก) แต่ถ้าใครเก่งสถิติ หรือพอทำได้แล้ว มาเจอวิชานี้ก็จะไปได้เร็ว แต่วิชาพวกนี้เรียนในห้องอย่างเดียว ไม่เข้าใจแน่ๆ ต้องกลับมาอ่านเอง ทบทวน ทดลองทำตามดู
       แต่ขอบอกว่าเนื้อหาก็เยอะพอๆ กับสถิติ แต่อันนี้จะน้อยกว่านิดนึง เพราะมันเรียนเรื่องเดียวไง แต่เนื้อหาย่อยๆ อีกเพียบ สูตรเยอะมากๆๆๆ (แต่ข้อสอบง่ายแฮะ ^0^) มีคะแนนงานให้ด้วยนะ 10 คะแนน




3.DISCRETE MATHEMATICS
วิชาคณิตศาสตร์ดิสคีส (อะไรกันเนี้ย เกิดมาไม่เคยได้ยิน ??) [ เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ] ที่ได้เรียนก็จะมีหลายเรื่องปนๆ กัน อย่างเช่น เซต การเลือก การจัดหมู่ เลขฐาน เมทริกซ์ คือประมาณว่าเอาวิชาที่เคยเรียนมาแล้วตอนมัธยมมาให้เรียนทบทวนอีก แล้วก็ให้ฝึกคิดวิเคราะห์ ว่าวิธีนี้มาได้ยังไง ทำไมถึงเป็นแบบนี้ อะไรแบบนี้เป็นต้น
         แล้วก็มีเรื่องใหม่ให้เรียนด้วย เช่น ไฟไนต์ ออโตมาต้า (เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสิ่งต่างๆ ที่เราจะต้องวิเคราะห์การทำงานออกมาเป็นขั้นตอน)
         ข้อสอบก็ข้อเขียนล้วนนะ มีห้คิดวิเคราะห์หลายข้อเลย ประมาณ 8 ข้อ แต่คะแนนเยอะมากกก




4.OBJECT-ORIENTED PROGRAMMING
วิชาเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ หรือเรียกสั้นๆติดปากว่า ออปเจ็ค [ เรียนทฤษฎี 1 คาบ(2 ชม.) ต่อด้วย ปฏิบัติ(Lab) อีก 1 คาบ(2 ชม.) /สัปดาห์ ] เป็นวิชาภาคต่อของ Programming Fundamentals (ต้องเรียนวิชานี้ก่อน จึงจะเรียน OBJECT-ORIENTED PROGRAMMING ได้) วิชานี้ก็เป็นวิชาที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ เพราะมันเป็นวิชาที่ตรงสายเราที่สุด  จะเรียนคล้ายๆ โปรแกรมมิ่งพื้นฐานนั่นแหละ แต่จะซับซ้อนขึ้นไปอีก คือ ต้องเขียนโปรแกรมแยกออกมาเป็นเมดธอด แล้วเอามารวมกัน คือมีโปรแกรมหลักหนึ่งโปรแกรม แล้วมีโปรแกรมย่อยๆ ที่ใช้ทำงานเฉพาะอย่าง จากนั้น ก็เอาโปรแกรมย่อยๆ มาประกอบกันเป็นโปรแกรมใหญ่ที่สมบูรณ์อีกที
          ข้อสอบคล้ายๆ กับโปรแกรมมิ่งพื้นฐาน มีทั้งเติมคำและเขียนโปรแกรม ข้อเขียนโปรแกรมก็จะคะแนนเยอะหน่อย แต่ก็จะยาววววว ประมาณ 4 หน้าแน่ะ คะแนนทั้งหมด มิดเทอม 40 คะแนน ไฟนอลอีก 60 คะแนน ไม่มีคะแนนงานจ้าาา



5.Foundation English 2
วิชาอังกฤษพื้นฐาน 1 [เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ]  จะเรียนเหมือน Foundation English 1 เลย แต่ก็เพิ่มเนื้อหามาอีก แต่ก็คล้ายๆ ตอน ม.ปลาย อยู่ดี ข้อสอบมี 3 part คือ Grammar Vocab และ Reading ซึ่งส่วนที่ยากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Reading เพราะเป็น Unseen Reading(บทความที่ไม่เคยเห็นมาก่อน)
          ขอบอกเลยว่า Eng 2 ง่ายกว่า Eng 1 อีก อาจเป็นเพราะเนื้อหาเป็นเรื่องที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันก็ได้

อีกสองวิชาเป็นวิชาเลือก

วิชาเลือกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


6.COMPUTERS AND PROGRAMMING
วิชาคอมพิวเตอร์และการโปรแกรม [เรียน 1 คาบ(4 ชม.)/สัปดาห์ ]  แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 เทอม คือ เทอมแรก จะเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ IT ก็ประมาณว่า คอมพิวเตอร์มีกี่แบบ มีอุปกรณ์อะไรบ้าง อินเตอร์เน็ตมีส่วนประกอบอะไร บลาๆๆๆ เหมือนเรียน computer science ตอนเทอม 1 เลย แต่ง่ายกว่ามากๆๆๆ ส่วนเทอม 2 เรียนเขียนโปรแกรมภาษาซี ก็เรียนตั้งแต่ประกาศตัวแปร ไปจนถึง loop (ไม่ลงลึกเท่าไหร่ เพราะเป็นวิชาเลือก)
          ข้อสอบเป็นปรนัยหมดเลย (สบายแฮ)


วิชาเลือกสังคมศาสตร์



7.CONTEMPORARY THAI ECONOMY
วิชาเศรษฐกิจไทย [เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ] คำโปรยรายวิชา "ศึกษาโครงสร้างสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง กฎหมาย ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและประเด็นอื่นๆ รวมทั้งเรื่องปัญหาของ สังคมไทยและการศึกษาดูงานนอกสถานที่ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง"
          ความจริงแล้วก็เรียนแค่ เศรษฐศาสตร์ ไม่มีการเมือง ศาสนา เลย ก็เรียนพวก Demand Supply กราฟนู้นนี้เยอะไปหมด ความต้องการผู้บริโภค ต่างๆนาๆ  เนื้อหาค่อนข้างเยอะ
          ข้อสอบเป็นปรนัยล้วน เนื้อหาออกตามที่เรียนเลยครับ



วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปี 1 เทอม 1 วิทยาการคอมพิวเตอร์ ลาดกระบัง

          คราวนี้จะมาเล่าถึงประสบการณ์การเรียน และรายละเอียดวิชาต่างๆ ของนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ลาดกระบัง ปี 1 เทอม 1

ปี 1 เรียน 7 วิชา วิชาละ 3 หน่วยกิต รวมเป็น 21 หน่วยกิต
แบ่งเป็นวิชาหลัก 5 วิชา และวิชาเลือก 2 วิชา


1.Calculus for Computer Science
          วิชาแคลคูลัส อันเป็นที่โปรดปรานของใคร หลายๆคนนั่นเอง อิอิ [ เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ] วิชานี้จะแบ่งเนื้อหาเป็นก่อน midterm และหลัง midterm  ซึ่งก่อนมิดเทอมก็จะเรียน ลิมิต และอนุพันธ์ของฟังก์ชัน (ดิฟ) เป็นหลัก เนื้อค่อนข้างยากและงงสำหรับผู้ที่ไม่ถนัด แต่ถ้าตั้งใจเรียนจริงๆ ก็จะเข้าใจ step ในการทำโจทย์อย่างกระจ่าง เน้นฝึกทำโจทย์เยอะๆ หาโจทย์มาจากอินเทอร์เน็ต และอย่าขาดเรียนเป็นอันขาด เพราะถ้าขาดไป 1 คาบ อาจจะทำให้เราไม่เข้าใจและตามไม่ทันเพื่อนเลยทีเดียว ส่วนข้อสอบ midterm จะเป็นอัตนัย(ข้อเขียน) ล้วน สิบกว่าข้อ ข้อละ 5-10 คะแนน โจทย์ในข้อสอบจะอยู่ในขอบเขตที่เรียน และจะมีข้อปราบเซียนอยู่ 1-2 ข้อ ก็จะเป็นข้อที่ดูยุ่งยากที่สุดเท่าที่อาจารย์ได้สอนมานั่นแหละครับ คะแนนเต็ม 110 คะแนน เก็บ 40 คะแนน และจะมีคนที่ได้คะแนนสูงๆ กันเยอะ แต่ถ้าคนที่ทำไม่ได้ก็จะได้ต่ำไปเลย ตอนนั้นคะแนนสูงสุด คือ 110 ต่ำสุด คือ 1 คะแนน
ส่วนเนื้อหาหลังมิดเทอมก็จะเรียนอินทิเกรตเป็นหลัก ซึ่งจะยากกว่าดิฟไปอีก ใครที่ดิฟไม่ได้ก็จะอินทิเกรตไม่ได้ไปด้วย ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน สิบกว่าข้อ และเต็ม 110 คะแนนเช่นเดิม (เก็บ 50 คะแนน) + คะแนนงานอีก 10 คะแนน เป็น 100 คะแนนพอดี


2.Elementary Statistics
วิชาสถิติพื้นฐานนั่นเอง [ เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ] อยากจะบอกว่าเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเยอะมากๆๆๆๆ กินหน่วยความจำในสมองเยอะมาก เรียนไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากมากสำหรับคนที่ตั้งใจ ถ้าอยากจะเรียนให้เข้าใจจริงๆ แนะนำให้เรียนเรื่องเดียวหลายๆ ครั้ง คือไปเรียนรวมกับกลุ่มอื่นในสาขาเดียวกันกับเราอีกครั้ง ข้อสอบมิดเทอมเป็นข้อสอบปรนัยล้วนมีทั้งทฤษฎี(20%) และคำนวณ(80%) จำนวน 60 ข้อ เก็บ 40 คะแนน ข้อสอบไม่ยากแต่ต้องเป๊ะ! คะแนนงานอีก 10 คะแนน ส่วนข้อสอบ Final เก็บ 50 คะแนน



3.Programming Fundamentals
วิชาโปรแกรมมิ่งหรือที่เรียกกันว่า JAVA เพราะเรียนเขียนโปรแกรมภาษา JAVA นั่นเอง [ เรียนทฤษฎี 1 คาบ(2 ชม.) ต่อด้วย ปฏิบัติ(Lab) อีก 1 คาบ(2 ชม.) /สัปดาห์ ] เป็นวิชาที่สำคัญมากสำหรับนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเป็นวิชาที่ไม่ควรดรอป เพราะเทอม 2 จะมีวิชาที่ชื่อว่า Object-Oriented Programming ซึ่งถ้าไม่เรียนวิชา Programming Fundamentals ก็จะลงเรียน Object-Oriented Programming ไม่ได้
วิชาโปรแกรมมิ่งนี้ ถ้าจะให้เรียนรู้เรื่องและเข้าใจ ก็จะต้องฝึกเขียนโปรแกรม และทบทวนโปรแกรมที่อาจารย์สอนบ่อยๆ สิ่งที่เรียนก็จะเป็นการเขียนโปรแกรมภาษา JAVA ขั้นพื้นฐาน มีตั้งแต่เขียนโปรแกรมรับค่า-แสดงค่า String Method จนถึง Array 2 มิติ และที่สำคัญคือไม่ควรโดดคาบปฏิบัติ เพราะจะเป็นคาบที่อาจารย์สอนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่จะเอาไปออกข้อสอบถึง 40% ส่วนมากคนที่ทำข้อสอบไม่ได้ก็เป็นเพราะชอบโดด Lab กันนั่นแหละ อิอิ
ข้อสอบมิดเทอมและไฟนอลจะเป็นอัตนัยทั้งหมด โดยมีทั้งเติมคำ และเขียนโปรแกรม ข้อสอบไม่เยอะ แต่ข้อสอบแต่ละข้อคะแนนเยอะมาก (ข้อละ 5-10 คะแนน ไม่หาร) เต็ม 40 คะแนน เก็บ 40 คะแนน ส่วนข้อสอบไฟนอลก็เหมือนกัน แต่เก็บ 60 คะแนน ไม่มีคะแนนงาน



4.Computer Science
วิชาที่มีชื่อเดียวกับสาขา นั่นคือวิทยาการคอมพิวเตอร์นั่นเอง [เรียน 1 คาบ(4 ชม.)/สัปดาห์ ] เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบปฏิบัติการ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์กราฟิก แถมด้วยภาษาซี เป็นต้น และเป็นวิชาที่มีอาจารย์ผู้สอนเยอะมาก(บางรุ่นมีมากถึง 7 คน) เนื้อหาไม่ยาก แต่ต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะข้อสอบจะออกแนววิเคราะห์(จำอย่างเดียวไปสอบไม่ได้) ข้อสอบมิดเทอมมีทั้งปรนัยและอัตนัย เก็บ 30 คะแนน + คะแนนงานอีก 10 คะแนน และข้อสอบไฟนอลมีแต่ปรนัย เก็บ 60 คะแนน



5.Foundation English 1
วิชาอังกฤษพื้นฐาน 1 [เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ]  จะเรียนเหมือน ม.ปลายเลย คือเรียน Tense ธรรมดาๆ แต่ไม่ครบ 12 tense และคำศัพท์อีกมากมาย วิชานี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน แต่สำหรับใครที่ไม่เก่งอังกฤษ ก็ให้มาเริ่มใหม่ที่มหาลัยได้เพราะ จะเริ่มเรียนเรื่องง่ายๆก่อน ข้อสอบมิดเทอมและไฟนอลเป็นปรนัยล้วน จะมีในส่วนของ Tense Vocab และ Reading ซึ่งส่วนที่ยากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Reading เพราะเป็น Unseen Reading(บทความที่ไม่เคยเห็นมาก่อน) วิชานี้ตัดเกรดอิงกลุ่มรวมทั้งมหาลัย ได้ A ค่อนข้างยาก แต่ถ้าคนเก่งอยู่แล้ว ได้ A สบายๆ อิอิ

อีกสองวิชาเป็นวิชาเลือก

วิชาเลือกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


6.Computer for Daily Life
วิชาคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน [เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ]  เป็นวิชาที่ง่ายมากสำหรับเด็กวิทย์คอม เพราะเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน คล้ายวิชา Computer Science แต่ง่ายกว่ามากๆ  (เรียนคล้ายๆเด็ก IT) เช่น LAN , Internet, Database, CG เป็นต้น ข้อสอบแล้วแต่อาจารย์ แต่ข้อสอบไม่ยากเลยถ้าเป็น นศ.วิทย์คอม ต้องทำได้แน่ๆ (แต่ถ้าเป็น นักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ อาจโดนกดเกรดซักหน่อย เช่น จากที่สมควรได้ A ก็จะได้ B+ ดังนั้นเลือกเรียนวิชาเลือกตัวอื่นจะดีกว่าครับ อิอิ)


วิชาเลือกมนุษย์ศาสตร์


7. Human Relations
วิชามนุษย์สัมพันธ์ [เรียน 1 คาบ(3 ชม.)/สัปดาห์ ]  วิชานี้เป็นวิชาที่คนเรียนเยอะมากๆ และมีหลายกลุ่ม เรียนเกี่ยวกับมนุษย์สัมพันธ์ทั่วไป เรียนสบายๆ ไม่มีสอบกลางภาค แต่มีสอบปลายภาค เป็นอัตนัยล้วนๆ เก็บ 60 คะแนน ซึ่ง อีก 40 คะแนนก็อาจมาจาก การเข้าเรียน + คะแนนงาน

วิทยาการคอมพิวเตอร์ คือ อะไร?


          วิทยาการคอมพิวเตอร์ คือ สาขาวิชาหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ หรือบางมหาวิทยาลัยจะอยู่ในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ วิทยาการ การจัดการ เป็นต้น

          สาขานี้เรียนเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมมิ่ง มีคณิตศาสตร์ด้วย เรียน Software 90% และ Hardware 10% (รายละเอียดอื่นๆ ตามอินเทอร์เน็ตมีบอกไว้หมดแล้ว) ซึ่งที่ลาดกระบัง หลักสูตรใหม่จะไม่มีเรียนวิทย์เลยซักตัว จะเน้นไปทางคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ซะส่วนใหญ่ 

          ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะมีหน่วยกิต 3 หน่วยทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชาหลักหรือวิชาเลือกก็ตาม จึงทำให้วิชาที่เราถนัด สามารถดึงเกรดได้